การพลิกฟื้นกลุ่มธุรกิจสามารถดิจิทัล นับเป็นเป้าหมายใหญ่ของ ‘สามารถ คอร์ปอเรชั่น’ ที่เตรียมการมาอย่างยาวนาน ทั้งการมองหากลุ่มธุรกิจใหม่ที่สร้างโอกาสในการเติบโต และการปรับแนวทางในการทำธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย
ด้วยการแยกธุรกิจความเชื่อ การทำบุญ และสายมู ออกมาเป็น “ลัคกี้ เฮง เฮง” ที่จะกลายเป็นสตาร์ทอัปแรกของกลุ่มสามารถ ที่นำจุดเด่นของการทำงานยุคใหม่ที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับเข้าไปจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับดิจิทัล
เบื้องต้น กลุ่มสามารถมั่นใจว่าจะสามารถระดมทุนให้ “ลัคกี้ เฮง เฮง” ราว 70-80 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ และจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่เปิดเส้นทางในการทำธุรกิจยุคใหม่ของสามารถดิจิทัล และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กลุ่มสามารถด้วย
วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการเปิดตัวบริษัท “ลัคกี้ เฮง เฮง” ออกมาดำเนินธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัปรายแรกเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน
“เราอยากเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการทำงาน ด้วยการลองปรับสามารถดิจิทัล ให้เข้าสู่การทำงานในรูปแบบของสตาร์ทอัป เพื่อที่จะได้วัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมทำงานด้วยกัน ด้วยการแยก ลัคกี้ เฮง เฮง ออกมาระดมทุน”
เบื้องต้น “Lucky Heng Heng” จะเน้นประกอบธุรกิจสายมู หรือเกี่ยวกับความเชื่อที่ครอบคลุม 2 ส่วนหลัก คือการให้บริการ Horoworld เกี่ยวกับโหราศาสตร์ การดูดวง ดูโหงวเฮ้ง ฮวงจุ้ย ฤกษ์มงคลต่างๆ และ Thai Merit ในการทำบุญ ไหว้พระ บริจาคเงิน แก้บน เสี่ยงเซียมซี ตลอดจนการบูชาวัตถุมงคล
โดยก่อนหน้านี้ Horoworld เริ่มเปิดทดลองให้บริการแก่ลูกค้าแล้ว และมีการนำประสบการณ์ใช้งานของลูกค้า และความคิดเห็นไปปรับปรุงให้รองรับการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น และจะเปิดตัวเวอร์ชันอัปเดตอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
“สิ่งที่ Horoworld ต้องการคือเป็นมาร์เก็ตเพลสที่รวบรวมหมอดูมากที่สุดในประเทศไทยครอบคลุมศาสตร์ต่างๆ ของการดูดวง พร้อมนำประสบการณ์ที่ทำมาตลอดกับบริการอย่าง 1900 ที่ให้บริการมากว่า 20 ปีมาช่วยซัปพอร์ตการทำงาน”
สำหรับไฮไลต์ฟีเจอร์ของ Horoworld ที่จะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคมนี้ คือการเปิดให้เข้ามาดูดวงได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะมีหมอดูเข้ามาสแตนด์บายตลอดเวลา ถัดมาคือการทำนายโหวงเฮ้ง จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายเซลฟี่เบื้องต้น และถ้าต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามา
รวมถึงรองรับการใช้งานทั้งโมบาย แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ พร้อมกับพัฒนาระบบชำระเงินต่างๆ ให้สะดวกมากขึ้น ด้วยการเข้าไปร่วมกับพันธมิตรเพย์เมนต์เกตเวย์ต่างๆ
ในส่วนของ Thai Merit จะนับเป็นบริการที่ต่อยอดมาจากการดูดวง ที่หลายครั้งเมื่อมีการดูดวง หรือเสี่ยงเซียมซีแล้วจะมีคำแนะนำในการไปทำบุญเพื่อสะเดาะเคราห์ต่างๆ ภายในแอปนี้จะรวบรวมวัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไหว้พระ บริจาคเงิน แก้บน ได้ผ่านช่องทางออนไลน์
“รูปแบบบริการของ Thai Merit คือการเข้าไปคุยกับร้านค้าในบริเวณวัด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในต่างจังหวัดที่ได้รับความนิยม เพื่อรวบรวมเข้ามาเป็นฐานข้อมูล ก่อนนำมาคัดเลือกและแนะนำให้แก่ผู้ใช้ ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลอย่างวัน เดือน ปีเกิด มาแนะนำในการทำบุญได้ด้วย”
นอกจากนี้ ภายในแอปยังมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแนะนำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละวัด ในกรณีที่ไปวัดแล้วต้องการไปสักการะในจุดต่างๆ เพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลอย่างสีนำโชค สีต้องห้ามในแต่ละวัน ยังไม่นับถึงการรวบรวมวัตถุมงคลจากสถานที่ต่างๆ มาให้ผู้ที่สนใจเช่าซื้อ หรือทำบุญเพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่แค่วางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มเท่านั้น แต่ยังเข้าไปทำตลาดในช่องทางอีมาร์เก็ตเพลสอย่างลาซาด้า และช้อปปี้ด้วย
บริการอย่าง Thai Merit จะเน้นเข้าไปอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปที่วัดด้วยตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยปัจจุบันครอบคลุมวัดแล้วกว่า 60 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในช่วงที่เปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
ปัจจุบัน ลัคกี้ เฮง เฮง กำลังอยู่ในช่วงของการยื่นขออนุมัติการแยกออกไประดมทุนจากบอร์ดของกลุ่มสามารถ และเข้าประเมินธุรกิจ โดยคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ราว 70-80 ล้านบาทภายในปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการที่มีฐานลูกค้าที่ใช้บริการ 1900 อยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนราว 3-4 ล้านบาทและถ้าบริการอย่าง Horoworld และ Thai Merit เริ่มให้บริการอย่างเต็มตัวมีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปถึงเดือนละ 10 ล้านบาท
“เงินที่คาดว่าจะได้จากการระดมทุนจะเข้ามาช่วยให้ ลัคกี้ เฮง เฮง สามารถขยายไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวคิด และความเชื่อใกล้เคียงกันอยู่แล้ว”
***ศึกษา NFT ในรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร
นอกเหนือจากการทำธุรกิจสายมูแล้ว ในสามารถดิจิทัล ยังมีบริษัทอย่างไอ-สปอร์ต ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับคอนเทนต์สายกีฬา และในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยอยู่แล้ว ทำให้ในเวลานี้ สามารถดิจิทัล กำลังเริ่มศึกษา และพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างในธุรกิจกีฬา ที่มีการนำช่วงเวลาของการแข่งขันมาแปลงเป็น NFT เพื่อจำหน่าย หรือในตลาดนักสะสมของโบราณระดับโลก ที่จะนำรูปถ่าย หรือแบบแปลน 3D มาทำเป็น NFT ให้นักสะสมได้ซื้อหา
“สิ่งที่มองไว้ในตอนนี้คือการทำธุรกิจ NFT ที่แตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเรื่องของการที่ซื้อไปแล้วต้องมีคุณค่า และได้สิทธิประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้งานจริงได้”
อย่างในอนาคตถ้ามีการสร้างเมตาเวิร์สขึ้นมา ก็สามารถนำ NFT ที่เป็นสถานที่สำคัญเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนได้ และผู้ที่ซื้อ NFT นั้นไปก็จะเป็นเจ้าของจริงๆ ไม่ใช่แค่การเลือกแค่รูปภาพที่ไม่มีลิขสิทธิ์ไปเก็บไว้
***DTRS สร้างรายได้ประจำ
อีกหนึ่งธุรกิจของสามารถดิจิทัล ที่มีการลงทุนไปกว่า 3,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมา คือธุรกิจ Digital Trunk Radio Systems (DTRS) หรือระบบวิทยุสื่อสารดิจิทัล ที่วางแผนจะขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วกว่า 85,000 เครื่องจากกระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 115,000 เครื่อง จากการขยายไปให้บริการแก่ภาคเอกชนเพิ่มเติม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 เครื่องในช่วงปีหน้า ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นจะทำให้ธุรกิจ DTRS กลับมาสร้างกำไรให้แก่สามารถดิจิทัล
“รายได้ของธุรกิจ DTRS จะมาจากค่าเช่าเครื่องลูกข่าย และค่าใช้บริการรายเดือน ซึ่งถ้าสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ถึง 1.5 แสนราย จะทำให้มีรายได้ประจำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ยังอยู่ในช่วงศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อระดมทุนมาใช้ในโครงการ DTRS เพราะปัจจุบันสามารถดิจิทัล มีภาระหนี้ค่อนข้างสูงตั้งแต่ยุคของไอ-โมบาย ถ้าสามารถจัดตั้งกองทุนจากการนำโครงข่าย และฐานลูกค้ามาใช้จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินได้ด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมธุรกิจกลุ่มสามารถ ตั้งเป้ารายได้รวมในปี 2565 ไว้ที่ราว 14,000 ล้านบาท โดยจะมาจากกลุ่มธุรกิจสามารถเทลคอม (SAMTEL) ราว 8,000 ล้านบาท ในขณะที่รายได้จากธุรกิจยูทรานส์ คือ CATS (Cambodia Air Traffic Services) ที่เข้าไปให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในกัมพูชาคาดว่าจะมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาทส่วนในกลุ่มธุรกิจพลังงานอย่าง TEDA ที่เข้าไปให้บริการสถานีไฟฟ้า การวางสายส่งไฟฟ้าทั้งบนดิน และใต้ดินคาดว่าจะมีรายได้ราว 1,500 ล้านบาท
“ในแต่ละกลุ่มธุรกิจตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการค้นหาธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโต อย่างในกลุ่มพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า ระบบริหารจัดการพลังงาน จากเทรนด์ของความยั่งยืน หรือการเข้าไปให้บริการไอซีทีโซลูชัน โดยเฉพาะไซเบอร์ซิเคียวริตีที่มีแนวโน้มเติบโตสูง”
โดยจะมีทั้งการนำเสนอ e-meter ระบบมิเตอร์วัดไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จะเปลี่ยนจากจานหมุนมาเป็นมิเตอร์รุ่นใหม่ที่สามารถส่งข้อมูลเข้าไปที่ส่วนกลางได้ทันที หรือในธุรกิจ e-Payment ที่จะสร้าง Any Wallet Platform
“ธุรกิจเพย์เมนต์ กลุ่มสามารถจะไม่ได้ทำแค่ขายเครื่อง edc เพื่อให้บริการตามร้านค้าต่างๆ แต่ปรับมาเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่จะเชื่อมต่อกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ให้บริการเข้าด้วยกัน รวมถึงการขยายไปให้บริการชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดข้ามประเทศด้วย”